เต่ากระอาน (Batagur baska)
เต่ากระอาน Batagur baska ชื่อสามัญ Salt-water Terrapin, Four–toed Terrapin เป็นเต่าน้ำจืด ที่สามารถ กินทั้งพืชและเนื้อปลาเป็นอาหาร
เต่ากระอาน Batagur baska เป็นเต่าน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่กระดองหนาแข็งแรง รูปร่างค่อนข้างกลมหัวยืดหดได้ สายตาดีหนังตาสามารถเปิดปิดได้ คอยืดหยุ่นได้ ขนาดโตเต็มที่มีน้ำหนัก 60 กก.เต่ากระอานเมื่อยังมีขนาดเล็ก ในวัยเด็กจะมีลายบริเวณกระดองหลังชัดเจน และจางหายไปเมื่ออายุ 10-15 ปี เต่ากระอาน มีฟันแบบ cadiform ลักษณะคล้ายฟันเลื่อย ขาหน้าและขาหลังมีเล็บนิ้วจำนวน 4 เล็บ ระหว่างนิ้วเท้ามีผังผืดช่วยในการว่ายน้ำ เพื่อหาอาหารและหลบศัตรู
เต่ากระอาน
ชื่อสามัญ ( ไทย ) เต่ากระอานชื่อสามัญ ( อังกฤษ ) Salt-water Terrapin, Four–toed Terrapin
ชื่อวิทยาศาสตร์ Batagur baska
ความแตกต่างระหว่างเพศ เต่ากระอาน
ความแตกต่างของเต่ากระอาน ระหว่างเพศผู้และเพศเมีย พบว่า เต่ากระอานตัวเต็มวัยเพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย หลังโค้งนูนน้อยกว่าเพศเมีย ลักษณะรีคล้ายรูปไข่ จมูกแหลมกว่าเพศเมีย เพศผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์มีตาสีดำล้อมรอบด้วยวงนอกสีขาว กระดองลำคอและส่วนหัวมีสีเทาดำเข้มกว่าตัวเมีย คอยาวกว่าเพศเมียในฤดูผสมพันธุ์ มีนิสัยดุร้าย ส่วนหัวมีลักษณะแหลมเชิดงอนขึ้นเล็กน้อย หางอ้วนยาวกว่าเพศเมียเพื่อช่วยในการผสมพันธุ์ ระยะห่างระหว่างช่องขับถ่ายกับโคนหางมากกว่าเพศเมีย ด้านท้องเพศผู้สีเหลืองครีมแผ่นท้องเรียบเสมอกันตลอดทั้งแผ่น เพศเมียตัวเต็มวัยมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ หลังโค้งมากกว่า จมูกป้านคอสั้นกว่า หางสั้นกว่าเพศผู้ระยะห่างระหว่างช่องขับถ่ายระหว่างโคนหางน้อยกว่าเพศผู้ นิสัยไม่ดุร้ายเช่นเพศเมีย พฤติกรรมการผสมพันธุ์วางไข่
เต่ากระอานที่โตเต็มวัยผสมพันธุ์กันทั้งกลางวันและกลางคืน ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม โดยผสมพันธุ์กันในน้ำที่ระดับความลึก 30-40 ซม. เต่าเพศผู้จะว่ายน้ำวนรอบๆ ตัวผู้พ่นน้ำใส่ตัวเมียซึ่งเป็นการเกี้ยวพาราสีบางครั้งหัวไซร้ตามลำตัวและอวัยวะเพศเมียแล้วขึ้นคร่อมเพศเมียโดยใช้ขาทั้ง 4 ข้างเกาะกระดอง ข้างหน้า 2 ข้างจับที่ขอบกระดองด้านหัวของเพศเมียแล้วใช้หัวกดบริเวณส่วนคอ เพศเมียจะลอยตัวอยู่ในน้ำเฉยๆ จากนั้นเพศผู้จะสอดปลายหางเข้าใต้หางเพศเมียเพื่อสอดอวัยวะเข้าผสมพันธุ์ เมื่อสอดอวัยวะเข้าสนิทแล้วเกาะเพศเมียอยู่นานประมาณ 5-10 นาที
จากนั้นเพศผู้และเพศเมียหันหลังเข้าหากันโดยที่อวัยวะเพศยังสอดติดกันอยู่ ประมาณ 5 นาทีจึงแยกออกจากกัน อวัยวะเพศผู้คล้ายถุงปอดส่วนปลายแผ่กว้างคล้ายพัดเท้าสีดำ ส่วนล่างของอวัยวะมีติ่งเล็กๆ อยู่ตรงกลาง 2 ติ่ง พบว่ามีน้ำเชื้อสีขาวข้นไหลออกมาจากส่วนนี้ ขนาดของอวัยวะเพศผู้ยาวประมาณ 8-10 ซม. กว้างประมาณ 5-8 ซม.
หลังจากผสมพันธุ์ เต่าเพศเมียจะเก็บน้ำเชื้อไว้ภายในเพื่อผสมกับไข่ หลังจากแม่เต่าได้รับการผสมพันธุ์ประมาณ 1 เดือน แม่เต่าจะเริ่มขึ้นสำรวจหาดทรายเพื่อหาแหล่งวางไข่ วางไข่ในช่วงเวลา 20.00-04.00 นาฬิกา แม่เต่าใช้ขาหลังทั้ง 2 ข้างขุดคุ้ยทรายสาดไปด้านหลัง หลุมลึกประมาณ 30-60 ซม. กว้าง 40-60 ซม. แม่เต่าหันส่วนก้นลงหลุมแล้ววางไข่โดยยกก้นขึ้นเล็กน้อยแล้วปล่อยไข่ออกมา ขณะที่วางไข่เต่าจะขับน้ำเมือกออกมาหล่อเลี้ยงเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงมิให้ไข่แตก เมื่อวางไข่เสร็จแม่เต่าใช้ขาหลังคุ้ยกลบหลุมและใช้หน้าอกกระแทกหลุมวางไข่แรงๆ จนมิดปากหลุม แม่เต่านอนพักประมาณ 5-10 นาที จึงคลานลงน้ำ จำนวนไข่ตั้งแต่ 6-30 ฟอง ขึ้นกับขนาดของแม่เต่า ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน 68-76 วัน ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 30.23 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 76.84 เปอร์เซนต์
อาหารเต่ากระอาน
เต่ากระอาน สามารถกินอาหารได้ทั้งพืชและเนื้อปลาเป็นอาหาร เช่น ผักบุ้ง ลูกมะเดื่อ ผักตบชวา ปลาสด และสามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดปลากินพืชได้
การแพร่กระจาย: เต่ากระอานที่พบในประเทศไทย พบที่ คลองละงู จ.สตูล อำเภอปากพยูน จ.พัทลุง และอำเภอระโนด จ.สงขลา
กฎหมายคุ้มครอง กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546
อ้างอิงจาก : เต่าน้ำจืดและเต่าบกของไทย
โดย สุวรรณดี ขวัญเมือง, เสาวคนธ์ รุ่งเรือง, กำธร จรูญศักดิ์, ช่อทิพย์ จรูญศักดิ์
สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสตูล สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์